ปรัชญาปฏิรูปนิยม(Reconstructionism)





ปรัชญาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism)

 ปรัชญาสาขานี้มีความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับผู้เรียน ครู หลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน ตลอดทั้งลักษณะของการจัดการศึกษา เหมือนกับปรัชญาการศึกษาสาขาพิพัฒนาการนิยม เว้นแต่ในเป้าหมายของสังคมเท่านั้นที่แตกต่างกัน
              นักพิพัฒนาการนิยมหลายท่านมีความเห็นว่า แนวความคิดของพิพัฒนาการนิยม มีลักษณะ เป็นกลางมากเกินไป จึงไม่สามารถนำไปใช้ในการปฏิรูปการศึกษาในส่วนที่จำเป็นได้ พวกที่ต้องการแสวงหาอุดมการณ์ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้ตรงกว่านี้ และสร้างสังคมที่ดีขึ้นมาใหม่ จึงถูกจำแนกแยกออกมาจากพิพัฒนาการนิยม เป็นแนวความคิดขึ้นมาใหม่อีกแนวความคิดหนึ่ง เรียกว่า ปฏิรูปนิยม
               ธีโอดอร์ บราเมลด์ (Theodore Brameld) นักปรัชญาการศึกษาชั้นนำของอเมริกาได้รับเกียรติให้เป็นบิดาของปฏิรูปนิยม เนื่องจากปฏิรูปนิยมแยกออกมาจากพิพัฒนาการนิยม บราเมลด์ จึงได้พยายามเสนอแนวคิดของปฏิรูปนิยมให้แตกต่างไปจากพิพัฒนาการนิยม

พวกปฏิรูปนิยมมองโรงเรียนว่า เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างระเบียบทางสังคมขึ้นมาใหม่ การจัดหลักสูตรตามแนวของปฏิรูปนิยม จึงเน้นเนื้อหาสาระและวิธีการที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงความรับผิดชอบที่จะปฏิรูป และสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าขึ้นมา ทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และระดับโลกในที่สุดความมุ่งหมายของหลักสูตรจะเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถและทัศนคติที่จะออกไปปฏิรูปสังคมให้ดีขึ้น

               เนื้อหาวิชาและประสบการณ์ที่เลือกมาบรรจุในหลักสูตรจะเกี่ยวกับสภาพและปัญหาของสังคมเป็นส่วนใหญ่ เนื้อหาวิชาเหล่านี้จะเน้นหนักในหมวดสังคมศึกษา เพราะปรัชญานี้เชื่อว่า การปฏิรูปสังคม หรือการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น โดยกระบวนการช่วยกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม การจัดระเบียบของสังคม การอยู่ร่วมกันของคนในสังคม และการส่งเสริมประชาธิปไตย เป็นหน้าที่ของสมาชิกในสังคม และการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

               การสอนจะมุ่งเน้นกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีในสังคม การพัฒนาผู้เรียนให้ตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนที่มีต่อสังคมและการปฏิรูปให้สังคมดีขึ้น และจะไม่เน้นการถ่ายทอดวิชาความรู้โดยการบรรยายของครูมากเหมือนหลักสูตรในปรัชญาสารนิยม แต่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนสำรวจความสนใจ ความต้องการของตนเองและสนองความสนใจด้วยการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง เน้นการอภิปราย และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาของสังคม พร้อมทั้งหาข้อเสนอแนะและแนวทางในการปฏิรูปด้วย

การจัดตารางสอนไม่ออกมาในรูปของการแบ่งเวลาเรียนออกเป็นช่วง ๆ เท่า ๆ กัน ทุกคาบดังที่กระทำกันอยู่ทั่ว ๆ ไป ในแบบตารางสอนตายตัว (Block Schedule) แต่จะออกมาในรูปของตารางสอนแบบยืดหยุ่น (Flexible Schedule) บางคาบเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ สำหรับการบรรยายนำของครู บางคาบเป็นช่วงเวลาสำหรับการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง และที่สำคัญที่สุดจะมีคาบที่มีช่วงเวลายาวสำหรับการ                               

ข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม
             ปรัชญาการศึกษาสาขาปฏิรูปนิยมตามแนวความคิดของบราเมลด์เป็นแนวความคิดที่น่าตื่นเต้น เป็นปรัชญาที่เน้นให้ใช้ชีวิตทางพฤติกรรมศาสตร์ในการปฏิรูปสังคม ปัญหาอยู่ที่ว่า ค่านิยมที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับคืออะไร และสถาบันทางสังคมที่จะช่วยให้มนุษย์รู้จักตนเองควรมีลักษณะอย่างไร ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาต่างก็ให้ทัศนะต่าง ๆ กัน และเป็นปัญหาที่ยังไม่มีข้อยุติ ถือเป็นการจัดการศึกษาที่เป็นอุดมคติมากกว่าความจริง การจัดการศึกษาเพื่อเน้นอนาคตเป็นเรื่องที่ต้องใช้จินตนาการ การจัดหลักสูตรคงมีปัญหาหลายด้าน การจะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปสังคมจึงเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ เพราะการปฏิรูปสังคมต้องอาศัยปัจจัยอื่นมากมายนอกเหนือการศึกษา





อ้างอิงถึง  ทิศนา  แขมมณี. ศาสตร์การสอน. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.