ปรัชญาสัจนิยมวิทยา(Perennialism)





ปรัชญาสัจนิยมวิทยา หรือนิรันตรนิยม หรือนิรันดรนิยม (Perenialism)

แนวความคิดหลักทางการศึกษาของสัจวิทยานิยม ได้แก่ ความเชื่อที่ว่า หลักการของความรู้ จะต้องมีลักษณะจีรังยั่งยืนอย่างแท้จริง คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเราควรอนุรักษ์และถ่ายทอดให้ใช้ได้ในปัจจุบันและอนาคต  ซึ่งมาจากทัศนะของ เซนต์ โทมัส อะไควนัส (St.Thomas Aquinas) ผู้ซึ่งย้ำว่า พลังแห่งเหตุผลของมนุษย์ผนวกกับแรงศรัทธา คือ เครื่องมือทางความรู้

สัจวิทยานิยม เป็นปรัชญาการศึกษาที่ยึดแนวความเชื่อตามหลักปรัชญาสากลสาขาเทวนิยม โดยมีความเชื่อว่า นักเรียน คือ ดวงวิญญาณที่มีเหตุผล ครูคือดวงวิญญาณที่มีลักษณะของการเป็นผู้นำ และนักวิชาการ สำหรับหลักสูตรนั้นก็เป็นเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับดวงวิญญาณและสติปัญญา เช่น หลักการของศาสนา กฎเกณฑ์ หลักการต่าง ๆ ของภาษา คณิตศาสตร์ เป็นต้น

ปรัชญาสัจวิทยานิยมเชื่อว่า คนมีธรรมชาติเหมือนทุกคน ดังนั้น การศึกษาจึงควรเป็นแบบเดียวกันสำหรับทุกคน และเนื่องจากมนุษย์มีคุณสมบัติที่แตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ คือเป็นผู้สามารถใช้เหตุผล ดังนั้นการศึกษาจึงควรเน้นการพัฒนาความมีเหตุผล และการใช้เหตุผล มนุษย์จำเป็นต้องใช้เหตุผลในการดำรงชีวิตและควบคุมกำกับตนเอง มิใช่นึกจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ การศึกษาเป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต เป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์ปรับตัวให้เข้ากับความจริงแท้แน่นอน ถาวรไม่เปลี่ยนแปลง มิใช่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับโลกแห่งวัตถุ ซึ่งไม่ใช่ความจริงแท้ ดังนั้นเด็ก ๆ ควรได้รับการสอนวิชาพื้นฐานต่าง ๆ ที่สามารถช่วยให้เขาได้รู้จักและเรียนรู้ความเป็นจริงที่เป็นสัจธรรมไม่เปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพ และจิตใจ และวิชาหรือเนื้อหาสาระที่เป็นความจริงแท้ แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ที่เด็กควรจะได้ศึกษาเล่าเรียนคือ “Great Books” ซึ่งประกอบด้วย ศาสนา วรรณคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาและดนตรี

การจัดการเรียนการสอนตามปรัชญานี้ จะมุ่งเน้นการสอนให้ผู้เรียนจดจำ ใช้เหตุผล และตั้งใจกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยผู้สอนใช้การบรรยาย ซักถามเป็นหลัก รวมทั้งเป็นผู้ควบคุม ดูแล ให้ผู้เรียนอยู่ในระเบียบวินัย  ส่วนการปล่อยให้ผู้เรียนมีอิสระจนเกินไปในการเรียนตามใจชอบนั้น  แต่เป็นการขัดขวางโอกาสที่ผู้เรียนจะได้พัฒนาความสามารถที่แท้จริงของเขา การค้นพบตัวเองต้องอาศัยระเบียบวินัยในตนเอง ซึ่งไม่ใช่มีโดยไม่ต้องอาศัยวินัยจากภายนอก ความสนใจในสิ่งที่เป็นความจริงแท้นั้นมีอยู่ในตัวคนทุกคน แต่มันจะไม่สามารถแสดงออกมาได้โดยง่าย ต้องอาศัยการศึกษาที่ช่วยฝึกฝนและดึงความสามารถเหล่านี้ออกมา

ในด้านการเรียนการสอนนั้น จุดเน้นอยู่ที่กิจกรรมซึ่งจัดเพื่อการฝึกและควบคุมจิต เนื้อหาสาระที่มาจากธรรมชาติในรูปของสาขาวิชาการและความสามารถทางจิต เช่น เนื้อหาของคณิตศาสตร์  ภาษา ตรรกวิทยา วรรณกรรมชิ้นเอก และลัทธิคำสอน จะต้องนำมาศึกษาและเรียนรู้ ไม่ว่ามันจะถูกนำไปใช้โดยตรงตามลักษณะวิชานั้น  ๆ หรือไม่ ประเด็นที่สำคัญก็คือว่า การศึกษาวิชาเหล่านั้นฝึกจิต เชื่อกันว่าผู้เรียนเป็นบุคคลที่มีเหตุผลและมีพลังจิต วิธีการสอนจึงได้แก่ การฝึกฝนทางปัญญา เช่น การอ่าน การเขียน การฝึกทักษะ การท่องจำ และการคำนวณ พวกสัจวิทยานิยมถือว่า การเรียนรู้เกี่ยวกับการหาเหตุผลก็มีความสำคัญมาด้วยเช่นกัน และการจะได้สิ่งเหล่านี้มา จำเป็นจะต้องมีการฝึกฝนสติปัญญาเพิ่มเติม โดยการเรียนรู้ไวยากรณ์ ตรรกวิทยา และวาทศิลป์ ซึ่งนักการศึกษาได้ยืนยันความเชื่อเกี่ยวกับการสอนโดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาว่าเราไม่สามารถทำอะไรให้แก่เด็กได้ดีไปกว่าการเก็บความจำในสิ่งที่ควรแก่การจำ เขาจะรู้สึกยินดีและพอใจเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นับถือลักษณะของการศึกษาที่ยึดหลักการฝึกอบรมให้เป็นบุคคลที่ดีมีเหตุผล ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายที่จะให้ผู้เรียนสามารถค้นพบชีวิตที่มีความสุขและมีเหตุผลตามหลักของศาสนาเป็นประการสำคัญ

ข้อสังเกตเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาสาขาสัจวิทยานิยมมีดังนี้

1.       มีแนวความคิดและความเชื่อใกล้เคียงกับสาขาสารนิยม
2.       ถึงแม้จะมีแนวคิดใกล้เคียงกับพวกสารนิยม แต่ก็ยึดหลักความศรัทธาเป็นหลักการเบื้องต้นของความมีเหตุผลของมนุษย์ และเป็นที่มาของความรู้ต่าง ๆ
3.       จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษามุ่งที่จะเตรียมเด้กให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต
4.       การอ่าน การเขียน คิดเลขจึงมีความสำคัญในระดับประถมศึกษา
5.       การศึกษาระดับมัธยมนั้น เหมาะสมกับพวกที่มั่งมีหรือมีฐานะดีเป็นสำคัญ
6.       แนวความเชื่อของปรัชญาการศึกษา ทั้งสารนิยม และสัจนิยมวิทยานั้น มีผู้ให้ความคิดว่า
6.1    ไม่เหมาะสมกับความต้องการของเด็ก
6.2    ไม่เหมาะสมกับสังคมยุคใหม่
6.3    ไม่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย
6.4    ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้น
6.5    กระบวนการเรียนรู้อาศัยการขู่บังคับเป็นหลัก

ข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาสัจวิทยานิยม มีดังนี้
                        การที่ถือว่านักเรียนทุกคนเหมือนกันเป็นการขัดกับหลักจิตวิทยาในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคง การเรียนที่ถือเอาครูเป็นศูนย์กลางจะทำให้ผู้เรียนขาดความคิดริเริ่ม ขาดลักษณะผู้นำ เป็นการฝึกนักเรียนให้เป็นผู้ตาม นักเรียนน่าจะได้เรียนตามความสามารถและความถนัดของตน ไม่ใช่บังคับให้ทุกคนเรียนเหมือนกันหมด การวัดผลที่เน้นความจำจะนำความรู้ไปใช้ได้น้อย





อ้างอิงถึง  ทิศนา  แขมมณี. ศาสตร์การสอน. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.