ปรัชญาพิพัฒนนิยม(Progressivism)





ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม หรือพิพัฒนนิยม หรือวิวัฒนาการนิยม (Progressivism)

เป็นปรัชญาการศึกษาที่ยึดหลักการของปรัชญาสากลสาขาปฏิบัติการนิยม โดย ชาลส์ เอส เพียซ (Charles S. Pierce) โดยมีความเชื่อว่า นักเรียนเป็นบุคคลที่มีทักษะพร้อมที่ปฏิบัติงานได้ ครูนั้นเป็นผู้นำทางในด้านการทดลองและวิจัย หลักสูตรเป็นเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับประสบการณ์ต่าง ๆ ของสังคม เช่น ปัญหาของสังคม รวมทั้งแนวทางที่จะแก้ปัญหานั้น ๆ  ปรัชญาปฏิบัติการนิยมให้ความสนใจอย่างมากต่อการ ปฏิบัติหรือ การลงมือกระทำซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดว่า นักปรัชญากลุ่มนี้ ไม่สนใจหรือไม่เห็นความสำคัญของ การคิดสนใจแต่การกระทำเป็นหลัก แต่แท้ที่จริงแล้ว ความหมายของปรัชญานี้ก็คือ การนำความคิดให้ไปสู่การกระทำ”  เพราะเห็นว่า ลำพังแต่เพียงการคิดไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การดำรงชีวิตที่ดี ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดที่ดี และการกระทำที่เหมาะสม

พิพัฒนาการนิยมเกิดจากทัศนะทางการศึกษาของ รุสโซ (Jean Jacques Rouseeau) ชาวอเมริกา เขาเชื่อว่า การศึกษาจะช่วยพัฒนาเด็กไปในทางที่ดี  ต่อมามีนักการศึกษาชาวสวีเดน ชื่อ เพสตาโลสซี (Johann Heinrich Pestalozzi) มีแนวคิดว่า การพัฒนาหมายถึงการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการจะยึดอะไรเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความรู้ หรือความเชื่อย่อมเป็นการถ่วงพัฒนาการ หรือการเปลี่ยนแปลงของเด็ก เพสตาโลสซี่จึงเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เน้นพัฒนาการของผู้เรียน

แต่ความคิดของนักการศึกษาทั้งสองมาแพร่หลายเมื่อ จอนห์น ดิวอี้ (John Dewey) ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม คือ แทนที่จะเน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางสติปัญญาของผู้เรียน ดิวอื้ หันมาเน้นใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวผู้เรียนแทน โดยเน้นว่าผู้เรียนควรเข้าใจและตระหนักในตนเอง (Self-realization) ในการที่คนเราจะไปได้นั้น จำต้องรู้เสียก่อนว่าตนเองมีความสนใจอะไร หรือตนเองมีปัญหาอะไร ความสนใจและปัญหานี้เองที่ใช้เป็นหลักยึดในการจัดการศึกษา ซึ่งการที่เด็กจะพัฒนาได้นั้นต้องเกิดจากการพยายามแก้ปัญหา และสนองความสนใจของตนเอง  ลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดวิธีการในการพัฒนาหลักสูตร และการสอนแบบเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ดิวอี้เชื่อว่าในกระบวนการที่เด็กพยายามแก้ปัญหาหรือสนองความสนใจของตนเองนั้น เด็กจะต้องลงมือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งและในกระบวนการนี้เอง การเรียนรู้จะเกิดขึ้น  หลักการนี้ทำให้เกิดวิธีการเรียนแบบแก้ปัญหา (Problem Solving) หรือ เรียนด้วยการปฏิบัติ (Learning by Doing) ซึ่งเขาได้ทดลองให้เด็กเรียนรู้จากการกระทำในบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เด็กได้รับอิสระในการริเริ่มความคิดและลงมือทำตามที่คิด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในการจัดการเรียนการสอน และจากหลักการที่ว่า การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลง คนเราจะหยุดพัฒนาไม่ได้ ดังนั้นการเรียนรู้ของคนเราจึงมิได้หยุดอยู่แต่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่จะดำเนินไปตลอดชีวิตของผู้เรียน ทำให้เกิดความเชื่อว่า การศึกษาคือชีวิต (Education is Life)
นอกจากความมุ่งหมายของการศึกษาที่จะพัฒนาตัวผู้เรียนตามที่กล่าวมาแล้ว ปรัชญานี้ยังนำเรื่องของสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยการเตรียมผู้เรียนให้มีความสามารถในการดำรงชีวิตในสังคมประชาธิปไตย จริยธรรม ศาสนา และศิลปะอีกด้วย แต่การเน้นทางด้านสังคมของปรัชญานี้ไม่ค่อยหนักแน่นและชัดเจนเหมือนกับปรัชญาอื่น ๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป

การพัฒนาหลักสูตรตามแนวปรัชญานี้ จะเริ่มด้วยคำถามที่ว่า ผู้เรียนต้องการเรียนอะไรจากนั้นครูผู้สอนจึงจัดแนวทางในการเลือกเนื้อหาวิชา และประสบการณ์ที่เหมาะสมมาให้ เน้นการปลูกฝังการฝึกฝนอบรมในเรื่องดังกล่าวโดยการให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ (Experience) เนื้อหาวิชาเหล่านี้จะเกี่ยวกับตัวผู้เรียน และเกี่ยวกับสภาพและปัญหาในสังคมด้วย
ในการสอนครูจะไม่เน้นการถ่ายทอดวิชาความรู้แต่เพียงประการเดียว แต่จะคอยเป็นผู้ดูแลและให้ความช่วยเหลือเด็กในการสำรวจปัญหา ความต้องการ และความสนใจของตนเอง คอยแนะนำช่วยเด็กในการแก้ปัญหา แนะนำแหล่งต่าง ๆ ที่เด็กจะไปค้นหาความรู้ที่ต้องการจะเน้นให้เด็กมีโอกาสปฏิบัติ ส่วนการการประเมินผลจะนำพัฒนาการของเด็กในด้านต่าง ๆ เข้ามาร่วมประมวลด้วย โดยไม่เน้นการวัดความเป็นเลิศทางสมองและวิชาการเหมือนปรัชญาเช่นที่แล้วมา
การศึกษาฝ่ายพิพัฒนาการนิยมจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่เน้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาจัดการเนื้อหาวิชาแบบเก่า วิธีการในการจัดหลักสูตรเช่นนี้เรียกว่า ยึดประสบการณ์เป็นศูนย์กลางหรือ ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางผิดกับพวกสารนิยมและสัจวิทยานิยม ที่จัดหลักสูตรโดยถือ วิชาเป็นศูนย์กลาง
กระบวนการเรียนการสอนยึดหลักความสนใจของผู้เรียนที่จะแก้ปัญหาสังคมต่าง ๆ เป็นประการสำคัญ ด้วยเหตุนี้การเรียนการสอน จึงส่งเสริมการฝึกหัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อฝึกแก้ปัญหาโดยอาศัยการอภิปรายซักถาม และการถกปัญหาร่วมกันซึ่งเป็นลักษณะของการจัดการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความสามารถที่จะพิจารณาตัดสินใจ โดยอาศัยประสบการณ์และผลที่เกิดจากการทำงานเป็นกลุ่ม ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนมีความสามารถที่จะควบคุมการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตนเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุ

ข้อสังเกตปรัชญาการศึกษาสาขาพิพัฒนาการนิยม มีดังนี้

1.       ประสบการณ์ของมนุษย์เป็นพื้นฐานของความรู้
2.       สภาพการณ์ของทุกสิ่งในโลกนี้กำลังเปลี่ยนแปลง
3.       กระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์จะทำให้เด็กรู้ว่าจะคิดอย่างไร
4.       กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเน้นการคิดอย่างไร มากกว่าคิดอะไร
5.       โรงเรียนเป็นสถาบันทางสังคม และเป็นสถาบันต้นแบบของประชาธิปไตย
6.       เสรีภาพภายใต้กฎเกณฑ์เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย
7.       กระบวนการศึกษาเน้นกระบวนการกลุ่ม (Group Process) และมาตรฐานของกลุ่ม (Group Norms)

ข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม
นักการศึกษาหลายคนกล่าวว่าปรัชญาสาขานี้ทำให้เด็กมีความรู้ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ขาดระเบียบวินัย ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และทำให้เด็กขาดทัศนคติที่จะอนุรักษ์สถาบันใด ๆ ของสังคมไว้ต่อไป ทำให้การศึกษาด้อยในคุณภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านสติปัญญา การสอนที่เน้นความต้องการและความสนใจของเด็กนั้น เด็กส่วนมากยังขาดวุฒิภาวะพอที่จะรู้ความสนใจของตนเอง ธรรมชาติของเด็กชอบเล่นมากกว่าชอบเรียน การจัดหลักสูตรให้สนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ความสนใจและความต้องการบางอย่างของผู้เรียนอาจจะไม่มีประโยชน์ในชีวิต การเรียนการสอนที่เน้นการปรับตัวของนักเรียนให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมอาจทำให้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง





อ้างอิงถึง  ทิศนา  แขมมณี. ศาสตร์การสอน. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.