ปรัชญาสารัตถนิยม(Essentialism)





ปรัชญาสารนิยม หรือสารัตถนิยม (Essentialism)
สารนิยม เป็นชื่อของปรัชญาการศึกษาที่กำหนดขึ้นมาโดย วิลเลียม ซี แบกเลย์ (Bagley) ผนวกความเชื่อตามหลักปรัชญาของจิตนิยม (Idealism) และสัจนิยม (Realism) ซึ่งเป็นปรัชญาทั่วไป
ปรัชญาสารนิยมหรือสารัตถนิยมตามแนวจิตนิยม  มีความเชื่อว่า การศึกษาคือเครื่องมือในการสืบทอดมรดกทางสังคม ซึ่งก็คือวัฒนธรรมและอุดมการณ์ทั้งหลายอันเป็นแก่นสาระสำคัญ (essence) ของสังคมให้ดำรงอยู่ต่อ ๆ ไป ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาจึงควรประกอบไปด้วย ความรู้ ทักษะ เจตคติ ค่านิยม และวัฒนธรรม อันเป็นแก่นสำคัญซึ่งสังคมนั้นเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม สมควรที่จะรักษาและสืบทอดให้อนุชนรุ่นต่อ ๆ ไป การจัดการเรียนการสอนจะเน้นบทบาทของครูในการถ่ายทอดความรู้และสาระต่าง ๆ รวมทั้งคุณธรรมและค่านิยมที่สังคมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงามแก่ผู้เรียน ผู้เรียนในฐานะผู้รับสืบทอดมรดกทางสังคม ก็จะต้องอยู่เป็นระเบียบวินัย และพยายามเรียนรู้สิ่งที่ครูถ่ายทอดให้อย่างตั้งใจ
ปรัชญาสารนิยมหรือสารัตถนิยมตามแนวสัจนิยม  เชื่อว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้และความจริงทางธรรมชาติเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาจึงควรประกอบไปด้วย ความรู้ ความจริง และการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์และปรากฎการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ การจัดการเรียนการสอนตามความเชื่อนี้จึงเน้นการให้ผู้เรียนแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริง และการสรุปกฎเกณฑ์จากข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านั้น
จะเห็นได้ว่า ปรัชญาสารนิยมจะสนับสนุน The Three R’s (3R’s) คือ การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ความเชื่อตามปรัชญานี้ ผู้เรียนก็คือดวงจิตเล็ก ๆ และประกอบด้วยระบบประสาทสัมผัส ครูคือต้นแบบที่ดีที่มีความรู้จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่อบรมสั่งสอนนักเรียนโดยการแสดงการสาธิต หรือเป็นนักสาธิตให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเห็นอย่างจริงจัง
ในด้านการสอนนั้นมุ่งให้นักเรียนรับรู้และเข้าใจ ผู้สอนจะพยายามชี้แจงและให้เหตุผลต่าง ๆ นา ๆ เพื่อให้ผู้เรียนคล้อยตามและยอมรับหลักการ ความคิดและค่านิยมที่ครูนำมาให้ การเรียนจึงไม่เป็นการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ๆ แต่เป็นการยอมรับสิ่งที่คนในสังคมเคยเชื่อและเคยปฏิบัติมาก่อน
รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนนั้น ยึดหลักส่งเสริมให้นักเรียนได้เกิดความรู้ความเข้าใจในความรู้อันสูงสุดให้มากที่สุดเท่าที่นักเรียนแต่ละคนจะทำได้ วิธีที่ครูส่งเสริมมากคือ การรับรู้และการจำ การจัดนักเรียนเข้าชั้นจะยึดหลักการจัดแบบแยกตามลักษณะและระดับความสามารถที่ใกล้เคียงกันของผู้เรียน (Homogeneous Grouping) เพื่อมิให้ผู้ที่เรียนช้าถ่วงผู้ที่สามารถเรียนเร็ว ในการสอนจะคำนึงถึงมาตรฐานทางวิชาการมากกว่าคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ตารางสอนแบบ Block Schedule คือ  ทุก ๆ คาบควรมีช่วงเวลาเท่ากันหมด และเพื่อให้การถ่ายทอดและการรับรู้ของนักเรียนบังเกิดผลสูงสุด จึงเน้นการบรรยาย หรือการพูดของครูมากเป็นพิเศษ
การประเมินผลจะเน้นเรื่องเนื้อหาสาระหรือความรู้มากที่สุด ในการปฏิบัติจริงจะออกมาในรูปของการทดสอบความสามารถในการจำมากกว่าการทดสอบความสามารถในการคิด การใช้เหตุผล หรือความเข้าใจในหลักการ ไม่มีการวัดพัฒนาการทางด้านทัศนคติในการบริการหรือปรับปรุงสังคม แต่เน้นพัฒนาการทางด้านสติปัญญา

ข้อสังเกตของปรัชญาการศึกษาสารนิยมหรือสารัตถนิยมมีดังนี้
1.       กระบวนการเรียนรู้ต้องผ่านจิต โดยญาณและแรงบันดาลใจ
2.       จิตของผู้เรียนพัฒนาขึ้นมากเท่าใดก็มีโอกาสที่จะเป็นจิตที่สมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น
3.       สาระสำคัญของความรู้ คือ วิชาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และความรู้ปัจจุบัน ซึ่งเน้นปริมาณความรู้เป็นสำคัญ
4.       การเรียนการสอนมุ่งที่จะฝึก (The Three R’s) การอ่าน เขียน คิดเลข
5.       เป็นแนวความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาทั่งโลก ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของปรัชญาการศึกษาสารนิยม หรือสารัตถนิยม
การเรียนการสอนเน้นเนื้อหาวิชา การเชื่อฟังครู ทำให้ผู้เรียนขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ขาดความเป็นตัวของตัวเองซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการปกครองระบบประชาธิปไตย การสอนเน้นความจำทำให้นักเรียนไม่มีความคิดก้าวหน้า มีแต่ความรู้ในทางทฤษฎีที่นำไปปฏิบัติได้ยาก การยึดถือมรดกวัฒนธรรมเกินไปทำให้ผู้เรียนขาดอิสรภาพและความมีเหตุผล และการกำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษาไว้แน่นอนตายตัวย่อมขัดกับหลักการวิจัยที่ว่าความรู้และวิทยาการต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ใน 8 – 10 ปี





อ้างอิงถึง  ทิศนา  แขมมณี. ศาสตร์การสอน. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.