ปรัชญาอัตนิยม(Existentialism)





ปรัชญาอัตนิยม หรือสวภาพนิยม (Existentialism)

 ปรัชญานี้เกิดจากทัศนะเคอการ์ด (Soren Kierkegard) และสาตร์ (Jean Paul Sartre) ปรัชญานี้ให้ความสนใจที่ตัวบุคคล หรือความเป็นอยู่ มีอยู่ของมนุษย์ ซึ่งมักถูกละเลย ซึ่งพวกเขามีความคิดเห็นว่าสภาวะโลกปัจจุบันนี้มีสรรพสิ่งทางเลือกมากมายเกินความสามารถที่มนุษย์เราจะเรียนรู้ จะศึกษา และจะมีประสบการณ์ได้ทั่วถึง ฉะนั้นมนุษย์เราควรจะมีสิทธิ์หรือโอกาสที่จะเลือกสรรพสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวของตัวเองมากกว่าที่จะให้ใครมาป้อนหรือมอบให้ จากแนวความคิดดังกล่าว พวกอัตถิภาวนิยมจึงมีความเชื่อว่า เป้าหมายของสังคมนั้นต้องมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้คนเรามีอิสรภาพ และมีความรับผิดชอบ และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราพยายามเปิดโอกาสหรือยอมให้ผู้เรียนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเป็นผู้เลือกเอง ครูเป็นเพียงผู้กระตุ้น และปรัชญานี้มีความเชื่อว่า ธรรมชาติของคนก็ดี สภาพแวดล้อมทางสังคมก็ดีเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว คนแต่ละคนสามารถกำหนดชีวิตของตนเองได้ เพราะมีอิสระในการเลือกทุกสิ่งทุกอย่างไม่อยู่คงที่แต่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าความจริง (Truth) เป็นเรื่องนามธรรมที่ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้ สาระความจริงก็คือ ความมีอยู่เป็นอยู่ของมนุษย์ (existence) ซึ่งมนุษย์แต่ละคนจะต้องกำหนดหรือแสวงหาสาระสำคัญ (essence) ด้วยตนเอง โดยการเผชิญกับสถานการณ์ที่เรียกว่า “existential situation” ซึ่งบุคคลแต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง

                ปรัชญานี้มีรากฐานมาจากสภาวะวุ่นวายในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสงคราม และความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรื่องของอนาคตไม่อยู่ในความสนใจของนักปรัชญาสาขานี้ เพราะตามสภาพแวดล้อมในสังคม อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถจะคาดการณ์ได้ เป็นอนาคตที่ไม่แจ่มใสนัก ไม่ชวนให้คิดถึง พวกที่เชื่อในปรัชญานี้จึงหันมาเน้นการอยู่เพื่อปัจจุบัน คนเราจะอยู่ในสังคมเช่นนี้ได้จะต้องสามารถปรับตัวให้อยู่ได้อย่างมีความสุข สามารถเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ได้ กล้าตัดสินใจเลือกที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดและยอมรับผิดชอบในสิ่งที่ตนทำ ปรัชญานี้เน้นความสำคัญของบุคคลแต่ละคน และเน้นการดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

การจัดการศึกษาตามปรัชญานี้จึงให้ความสำคัญกับการให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด และสนับสนุนส่งเสริมผู้เรียนในการค้นหาความหมายและสาระสำคัญของชีวิตของเขาเอง ผู้เรียนมีเสรีภาพในการเลือกสิ่งที่เรียนตามที่ตนต้องการ มีเสรีภาพในการเลือกตัดสินใจเมื่อเผชิญกับปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ และรับผิดชอบในการตัดสินใจหรือการกระทำของตน

กระบวนการเรียนการสอนยึดหลักให้ผู้เรียนได้มีโอกาสรู้จักตนเอง ช่วยให้เด็กมีความเข้าใจตนเองและเป็นตัวของตัวเอง เช่น ศิลปะ ปรัชญา การเขียน การอ่าน การละคร โดยมีครูกระตุ้นให้แต่ละบุคคลได้ใช้คำถามนำไปสู่เป้าหมายที่ตนเองต้องการ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน มุ่งพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคล

                                ข้อสังเกตเกี่ยวกับปรัชญาสาขาอัตถิภาวนิยม มีดังนี้
1.       เน้นเอกัตบุคคลเป็นสำคัญ
2.       คำนึงถึงความแตกต่างส่วนบุคคล จึงทำให้แนวคิดที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จ เช่นระบบในโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์ โรงเรียนไม่มีการแบ่งชั้น (Non-Grade) โรงเรียนไม่มีผนัง (School Without Wall)
3.       ปรัชญานี้มุ่งส่งเสริม 4 ประการ คือ การพัฒนาตนเอง อิสรภาพ การเลือกและความรับผิดชอบ





อ้างอิงถึง  ทิศนา  แขมมณี. ศาสตร์การสอน. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.